Accessibility Tools

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา
image

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวimage

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถทางด้านการศึกษา การทหาร กีฬา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอื่นๆ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ มากมาย มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เริ่มตั้งแต่การเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ และทุกข์สุขของราษฎร เพื่อเรียนรู้แนวทางการพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งการพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เนื่องในวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม จึงได้รวบรวมพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.ด้านการศึกษา

  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ๖ แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่
๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ จ.นครพนม
๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ จ.กำแพงเพชร
๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ จ.สุราษฎร์ธานี
๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ จ.อุดรธานี
๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ จ.สงขลา
๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ จ.ฉะเชิงเทรา
โดยพระองค์ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในด้านการศึกษา ซึ่ง ๖ โรงเรียนดังกล่าว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง พร้อมพระราชทานคำแนะนำและทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน อาทิ โครงการอาชีพอิสระ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัยต่าง ๆ รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังมีพระราชดําริให้นําพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาจัดทํา “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒ และต่อมาทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีโอกาสศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน เมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ

 

2.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็นองค์ประธาน ในการจัดสร้าง “มูลนิธิกาญจนบารมี” ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลวโรกาสเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้น ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ มีวัตถุประสงค์ คือ
๑. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้
๒. เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
๓. เพื่อให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
๔. เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน, กิจกรรมต่าง ๆ, และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ
๕. เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ และเพื่อสาธารณประโยชน์
๖. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

 

3.ด้านสังคมสงเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัด พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง อาทิ ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน อาทิ
โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน และโครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขตลอดมา โดยหลังครองราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการในเขตพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา เก็บขยะมูลฝอยและวัชพืชจากคลอง ท่อระบายน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็ว ป้องกันน้ำท่วม ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมทั้งตัดแต่งกิ่งไม้ริมคลองเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

 

4.ด้านการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ โดยเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง อาทิ เสด็จเยือนประเทศอิตาลี, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, อิหร่าน, เนปาล, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนและระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้น ๆ ทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและทรงศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศไทย อาทิ ทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร อุตสาหกรรม งานศิลปวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศนั้น ๆ
พระองค์ยังทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ

 

 5.ด้านเกษตรกรรม

เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นประจำ รวมทั้งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านเกษตรกรรมแทนพระองค์ มาโดยตลอด และทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน
นอกจากนี้ พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนเกษตรกร อาทิ ทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งในการนี้ ยังทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธุ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน นำพาความชื่นชม ปลาบปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

 

6.ด้านพระศาสนา

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ
นอกจากนี้ ยังทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงผนวช เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ซึ่งระหว่างทรงผนวช พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อาทิ เป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ ณ เขาชีจรรย์ ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ และเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการดำเนินการก่อสร้าง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่ออัญเชิญประดิษฐานในพระอุระของพระพุทธรูปแกะสลัก โดยเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศ รัชกาลที่ ๑๐ ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มโครงการจัดการสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ และวันพุธที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๙ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงกดปุ่มระเบิดหินแกะสลักลายเส้นพระพุทธรูปเขาชีจรรย์เป็นปฐมฤกษ์

 

7.ด้านการกีฬา

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการกีฬา อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ
พระราชกรณียกิจด้านการกีฬาอื่น ๆ อาทิ เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นประธานในกิจกรรม Bike for Mom ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ประชาชนแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงออกถึงความรักที่มีต่อแม่ของตนและแม่ของแผ่นดินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย รวมถึงเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาอีกด้วย
อีกทั้งยังมีกิจกรรม Bike For Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำขบวนผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ ร่วมเทิดพระคุณพ่อและเพื่อแสดงพลังความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ

 

8.ด้านการทหาร

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ

 

9.ด้านการบิน

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และยังทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้พระองค์ทรงมีพระประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงมาก เมื่อปี พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร)

 

10. ด้านราชการ

9 มกราคม พ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นส่วนราชการในพระองค์

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.thailandpostmart.com/reviews/1209